เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน

 


  
เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน

 
ความหมาย   
        

        เพลง หมายถึง สำเนียงขับร้อง,ทำนองดนตรี (ราชบัณฑิตสถาน,2542:799)
สนอง อินละคร (2544:108) กล่าวว่า เพลงเป็นกิจกรรมที่ผู้จัดให้กับนักเรียนได้เรียนรู้จากเนื้อหา ทำนอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตและวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งยังแนะนำสั่งสอนในด้านคุณธรรมอันเป็นแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้อีกด้วย นักเรียนจะได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานควบคู่กันไป
       ชัยวัฒน์ เหล่าสืบสกุลไทย (2549:16) อธิบายว่า เพลง หมายถึง สำเนียงขับร้องทำนองดนตรีที่เรากระทำขึ้นเพื่อสนนองความจ้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ตลอดจนเพื่อกิจกรรมทางสังคมอีกด้วย
สรุปได้ว่า เพลง หมายถึง สำเนียงขับร้อง หรือทำนองดนตรี และเทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆที่ครูใช้สำเนียงขับร้องและทำนองดนตรีมาให้นักเรียนได้ร้องหรือครูร้องให้นักเรียนฟังเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเรียนการสอน



วัตถุประสงค์ของการใช้เพลงประกอบการสอน
     


        วัตถุประสงค์ของการใช้เพลงประกอบการสอน มีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่
1. เพื่อสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานไม่เครียดและเอื้อต่อการเรียนรู้
2. เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปํญญา
3. เพื่อสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ผ่านทางเนื้อร้องและความหมายของเพลง
4. เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์





ประโยชน์ของเพลงประกอบการสอน


    ในชีวิตประจำวัน เพลงช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้สนุกสนาน และสื่อความหมายตามวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ เพลงเพื่อชีวิตหลายๆ เพลงสะท้อนปัญญาของสังคมหรือให้แง่คิดในการดำรงชีวิต เพลงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาจะให้คุณค่าด้านคุณธรรม เพลงประกอบการสอนก็เช่นเดียวกัน มีประโยชน์หลายประการ ดังนี้
     
      เจนเซน (Jensen, 2009:150) กล่าวถึงความสำคัญของดนตรีว่าหากครูนำมาใช้ในชั้นเรียนทำให้บรรยากาศการเรียนรู้มีมิตรภาพมากขึ้น และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน

      สิริพัชร์ เจษฏาวิโรจน์ (2550:29-30) กล่าวว่า การใช้เพลงประกอบการสอนจะช่วยทำให้บทเรียนน่าสนใจ สนุกสนานเพลิดเพลิน ช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่นักเรียนในการเรียน ช่วยให้จดจำเนื่อหาและประทับความรู้สึกไว้ได้นาน และช่วยทำให้บทเรียนดูง่ายขึ้น การใช้เพลงประกอบการสอนในระดับประถมศึกษามีประโยชน์มาก เพราะเด็กในวัยนี้ชอบเล่น ชอบแสดง ชอบร้องเพลง และนอกจากนี้ การใช้เพลงประกอบการสอนยังเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีระเบียบวินัย มีประสบการณ์กว้างขวางและช่วยสร้างสัมพันธภาพอย่างเป็นกันเองระหว่างครูกับนักเรียน





ลักษณะของเพลงประกอบการสอน
      

        ลักษณะของเพลงประกอบการสอนต้องมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทเรียนหรือเกี่ยวกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่นักเรียน

    สุนันทา สุนทรประเสริฐ (ม.ป.ป.:2) กล่าวถึงลักษณะของเพลงที่นำมาใช้ประกอบการสอน ดังนี้
1.เป็นทำนองเพลงลูกทุ่งที่นักเรียนสามารถฟังจนติดหู หรือร้องจนติดปาก
2.แต่งเป็นบทร้อยกรองกลองสุภาพ หรือกาพย์ยานี11 แล้วนำมาใส่ทำนองเป็นเพลงไทยเดิมที่สนุก
3.มีเนื้อหาของเรื่องที่จะสอนสอดแทรกไว้ในเพลงทุกเพลง
4.เพลงที่ใช้ส่วนใหญ่มีเนื้อร้องสั้นๆไม่ยาวจนเกินไป
5.เน้นความไพเราะสนุกสนานเปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนไม่ให้เคร่งเครียด
6.หลังจากร้องเพลงจบแล้ว จะมีการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาหรือปัญหาที่น่าคิดจากเนื้อเพลง

    สรุปได้ว่า เพลงประกอบการสอนมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทเรียนหรือเกี่ยวกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่นักเรียน มีเนื้อร้องสั้นๆ เน้นความไพเราะ สนุกสนาน รวมทั้งนักเรียนได้มีโอกาสปรบมือ ทำจังหวะและแสดงท่าทางต่างๆ และถ้านำทำนองเพลงที่กำลังนิยมมาใช้ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียนมากยิ่งขึ้น
เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน

      สุนันทา สุนทรประเสริฐ (ม.ป.ป.:2) กล่าวว่า การนำกิจกรรมเพลงที่มาใช้ในกิจกรรมการเรียน กระทำได้หลายโอกาส คือ
 1. การนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อจูงใจและหันเหความสนใจของนักเรียนให้มาสู่บทเรียนที่ครูกำลังจะสอน       
 2. การใช้เพลงดำเนินการสอน จะใช้เพลงเป็นตัวหลักสำคัญในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
 3. การใช้เพลงในการสรุปบทเรียน เพื่อทบทวนเนื้อหาที่ได้เรียนมาเป็นการย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่ง
 4. การใช้เพลงสำหรับฝึก ซึ่งเป็นการฝึกให้ออกเสียงหรือย้ำให้เกิดความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง
 5. ใช้เพลงในการวัดผลและประเมินผล โดยการใช้เพลงเป็นส่วนประกอบในการวัดผล



สรุป
    


   
       เพลง หมายถึง สำเนียงขับร้อง หรือทำนองดนตรี และเทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆที่ครูใช้สำเนียงขับร้องและทำนองดนตรีมาให้นักเรียนได้ร้องหรือครูร้องให้นักเรียนฟังเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการเรียนการสอน
     เพลงประกอบการสอนมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับบทเรียนหรือเกี่ยวกับการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์แก่นักเรียน มีเนื้อร้องสั้นๆ เน้นความไพเราะ สนุกสนาน รวมทั้งนักเรียนได้มีโอกาสปรบมือ ทำจังหวะและแสดงท่าทางต่างๆ และถ้านำทำนองเพลงที่กำลังนิยมมาใช้ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียนมากยิ่งขึ้น
    เทคนิคการใช้เพลงประกอบการสอน ครูสามารถใช้ได้ทั้งในขั้นตอนนำเข้าสู่บทเรียน ดำเนินการสอน การให้ผู้ปฎิบัติ สรุปบทเรียน และการวัดผลการเรียนรู้ ซึ่งครูจะต้องเลือกเพลงให้เหมาะสมกับแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนการสอน  ในการสอนนักเรียนให้ร้องเพลงนั้น ต้องคำนึงถึงความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของนักเรียน และไม่คาดหวังสูงเกินไปว่านักเรียนจะร้องเพลงได้ดีเหมือนกันทุกคน และเพลงสำหรับนักเรียนที่มีอายุน้อยๆ ควรเป็นเพลงที่เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนเห็นในชีวิตประจำวันหรือเกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนเอง โดยครูร้องให้ฟังก่อน 1-2 เที่ยว เพื่อให้นักเรียนได้ฟังทำนอง จังหวะ เนื้อร้องหรือจับเค้าเพลงที่ร้องให้ได้ก่อน แล้วให้นักเรียนร้องตามที่ละวรรค จากนั้นครูร้องพร้อมกับนักเรียนจนกระทั้งนักเรียนร้องได้ด้วยตัวเอง และอาจใช้เทปช่วยในการสอนร้องเพลง นอกจากนี้ครูใช้ท่าทาง น้ำเสียง และอารมณ์ที่สอดคล้องกับบทเพลงรวมทั้งควบคุมจังหวะเพลง โดยการปรบมือหรือตีกลอง




อ้างอิง 

      
    
       ณรงค์ กาญจนะ.2553.เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น เล่ม 1.
                  พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์
        เข้าถึงได้จาก http://www.kruthai.ob.tc/.  สืบค้น 2 ธันวาคม 2553



เทคนิคการใข้เพลงประกอบการสอน โดย comtasia




วิดีโอการสอนโดยใช้เพลงประกอบการสอน