เทคนิคการใช้สื่อการสอน




เทคนิคการใช้สื่อการสอน
สื่อและวัสดุอุปกรณ์การสอนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยดี  การสอนที่มีการใช้วัสดุ อุปกรณ์ประกอบการเรียนนอกจากจะทำให้นักเรียนเห็นความเป็นรูปธรรมของสิ่งที่ครูสอนและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจของนักเรียนให้เด่นชัดและง่ายขึ้นแล้วการสอนที่มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอนยังช่วยเพิ่มบรรยากาศของการสอนให้น่าสนใจ  เนื่องจากมีการแปรเปลี่ยนสิ่งเร้าหลายๆ อย่าง และครูยังสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ กระตุ้นให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย  (ประดินันท์  อุปรมัย, 2540: 176-177)
อย่างไรก็ตาม  สื่อการสอนจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อครูได้นำไปใช้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี ดังนั้นก่อนที่จะนำสื่อแต่ละอย่างไปใช้ ครูจึงควรที่จะศึกษาได้ถึงลักษณะและคุณสมบัติของสื่อการสอน  ข้อดีและข้อจำกัดอันเกี่ยวเนื่องกับตัวสื่อและการใช้สื่อแต่ละอย่าง  ตลอดจนการผลิต และใช้สื่ออย่างเหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้การจัดกิจกรรมการสอนบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้  (กิดานันท์  มลิทอง,2531: 81-82  อ้างถึงใน อาภรณ์  ใจเที่ยง, 2546: 188)


ความหมาย        


        ความหมายของคำว่า  สื่อ  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  2542  มีหลากหลายความหมาย  แต่ความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  หมายถึง  ติดต่อให้ถึงกัน  เช่น  สื่อความหมาย  (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546:1200)  ฉะนั้น  สื่อการสอนก็หมายถึง สิ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการสอน  ซึ่งก็คือครูและนักเรียนติดต่อถึงกัน  เพื่อสื่อความหมายของสิ่งที่ต้องการจะสอนหรือให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
       กิดานันท์  มลิทอง (2544: 1)  กล่าวถึง คำว่า สื่อ และ สื่อการสอนและการฝึกอบรม  ว่า  สื่อมาจากคำภาษาลาติน  “medium” แปลว่า  ระหว่าง  หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่บรรจุข้อมูลเพื่อให้ผู้ส่งและผู้รับสามารถสื่อสารกันได้ตรงตามวัตถุประสงค์  สื่อการสอนและการฝึกอบรม  เป็นสื่อที่บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนและฝึกอบรมในรูปแบบวัสดุ  อุปกรณ์  และเทคนิควิธีการ  โดยอาจเป็นหนังสือ  แผนภูมิ  รูปภาพ  สไลด์  แถบวีดีทัศน์  แผ่นโปร่งใส  เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ  เครื่องวิชวลไลเซอร์  เครื่องเล่นวีซีดี  ลำโพง  ไมโครโฟน  โปรแกรมคอมพิวเตอร์  คอมพิวเตอร์  การสาธิต  การศึกษานอกสถานที่  ฯลฯ  รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบเครือข่ายมาใช้ร่วมในการสอนและฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและได้ประสิทธิผลเพิ่มพูนยิ่งขึ้นด้วย
         ชาญชัย  ยมดิษฐ์  (2548: 417)  อธิบายว่า  สื่อการเรียนการสอนเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจระหว่างสารที่ครูส่งไปยังนักเรียน  ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่ครูกำหนดไว้ โดยสื่อที่ครูใช้สอนเรียกว่า  สื่อการเรียนการสอน  ก็แปลว่า  นักเรียนก็เรียนรู้  ครูก็ใช้สอนด้วยนั่นเอง
         สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 71)  กล่าวว่า  สื่อการเรียนรู้  หมายถึง  สิ่งใด ๆ ก็ตามที่เป็นเครื่องช่วยถ่ายทอดความรู้จากบทเรียนไปสู่นักเรียน ซึ่งจะช่วยทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
               
วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน      
 เฉลิม  มลิลา  (2526: 118)  กล่าวถึง  วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน  ดังนี้
      1. เพื่อให้ประสบการณ์ตรง (Direct  Experience)  และเป็นจริงแก่นักเรียน
      2. เพื่อให้นักเรียนได้โดยง่าย  และสะดวกขึ้น
      3. เพื่อเร้านักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียนอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน  และตลอดเวลา
      4.  เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
      5.  เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะความสามารถ เนื่องจากไดเรียนรู้ด้วยการลงมือทดลองและฝึกปฏิบัติ  (Learning  by doing)
      6.  เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางความคิด  และการแสดงบทบาทอย่างสมควรและโดยสมเหตุสมผลตามแนวทางที่ดีและเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม
      7.  เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
      8.  เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน
      9.  เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี  (interaction)  ระหว่างนักเรียนครู
     10.เพื่อให้ประหยัดเวลา  วัสดุ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่าย  และบุคลากร  ในขณะเดียวกัน  ทำให้นักเรียนจำนวน มากเกิดการเรียนรู้อย่างคุ้มค่า  ภายใต้สถานการณ์ที่ดีและได้มาตรฐานอย่างเดียวกัน

ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียน          
 ระวิวรรณ  ศรีคร้ามครัน  (2551: 93)  กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอน  ดังนี้
 1.  ช่วยพัฒนาความคิดนักเรียน  การที่นักเรียนได้รู้  เห็นสภาพของปัญหาต่าง ๆ ได้ยินหรือได้สัมผัสโดย   การใช้สื่อการสอนประเภทต่าง ๆ เช่น จากภาพยนตร์  รูปภาพจะสามารถพัฒนาความคิดเห็นของนักเรียน  โดยการคิดค้นหาวิธีการแก้ไขอย่างมีหลักการ  และมีเหตุผล  ทำให้มีความคิดกว้างไกลมากขึ้น
2.   เพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียน  ทำให้นักเรียนมีประสบการณ์มากขึ้นเนื่องจากได้เห็นของจริง  ได้ยินหรือสัมผัส  ทำให้สามารถเปรียบเทียบสิ่งที่ได้เห็นในปัจจุบันกับความก้าวหน้าต่าง ๆ ที่นักเรียนได้เรียนรู้ใหม่จากสื่อการเรียนต่าง ๆ เช่น จากภาพยนตร์ หรือจากการทัศนศึกษา
3.   กระตุ้นหรือเร้าความสนใจของนักเรียน  ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่นำมาเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนนอกเหนือจากการเรียนปกติในชั้นเรียน  สามารถทำให้นักเรียนสนใจการเรียนมากขึ้น  มีความกระตือรือร้น  ใคร่รู้เห็นสิ่งที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ซึ่งจะกระตุ้นความคิดของนักเรียนได้

            อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2546: 188)  อธิบายถึงประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียนไว้  ดังนี้
1.   เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพราะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ เนื้อหาบทเรียนที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ง่ายขึ้นในระยะเวลาสั้น  และสามารถช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
2.   ช่วยกระตุ้นและสร้างความสนใจให้กับนักเรียน  ทำให้เกิดความสนุกและไม่เบื่อหน่ายการเรียน
3.   ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจตรงกัน  และเกิดประสบการณ์ร่วมกันในวิชาที่เรียนนั้น
4.   ช่วยให้นักเรียนไดมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น  ทำให้เกิดมนุษยสัมพันธ์อันดีในระหว่างนักเรียนด้วยกันเองและกับครู
5.   ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้  และช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์จากการใช้สื่อเหล่านั้น
6.   ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล  โดยจัดการให้มีการใช้สื่อในการเรียนการสอนรายบุคคล

            สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 75-77) กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียนหลายประการ ในที่นี้นำเสนอประการ ดังนี้
1.    ช่วยให้ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมแก่นักเรียน
2.    ช่วยให้สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ศึกษาได้ยากลำบากและทำการสอนง่ายขึ้น  เช่น 
                        - ทำสิ่งที่ซับซ้อนให้ง่ายขึ้น
                        - ทำสิ่งนามธรรมให้เป็นรูปธรรม  เช่น  การใช้ภาพ  หรือสัญลักษณ์
                        - ทำสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วให้ช้า  เช่น การกระโดดของแมลง
                        - ทำสิ่งที่เคลื่อนไหวช้าให้เร็ว  เช่น  การเจริญเติบโตของพืช
                        - ทำสิ่งที่เล็กให้โตขึ้น  เช่น  ภาพขยายตัวแมลงเล็ก ๆ
                        - ทำสิ่งที่โตให้เล็กลง เช่น  ภาพวิว ทิวทัศน์  สวน  นา
                        - นำสิ่งที่อยู่ไกลมาศึกษาได้ เช่น  ภาพอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ
                       -  นำอดีตมาศึกษาได้  เช่น ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์  บันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองในอดีต

           ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล (2550: 7-8 )  กล่าวถึงคุณค่าของสื่อการเรียนรู้ต่อนักเรียนหลายประการ ดังนี้
1.   ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมที่สามารถสัมผัสและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
2.   ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้มากขึ้นในเวลาที่กำหนดหรือรวดเร็วกว่าการไม่ใช้สื่อ 3.   ช่วยให้นักเรียนจดจำสิ่งที่เรียนได้มาก  แม่นยำ  และคงทนถาวรยิ่งขึ้น  เพราะความประทับใจในประสบการณ์ที่ได้รับจากสื่อนั้นๆ
4.   ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเรื่องราวต่างๆ  ตรงกัน  และเกิดประสบการณ์ร่วมในเรื่องราวเดียวกัน
5.   ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตปัจจุบัน และคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
6.   ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง  แปลกใหม่  และมีคุณค่า  ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมายและคาดหวังของนักเรียน

ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู 
อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2546: 188) กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู ดังนี้
1.   ช่วยให้บรรยากาศในการเรียนน่าสนใจยิ่งขึ้น  ทำให้ครูมีความสนุกสนานและมีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น
2.   ช่วยแบ่งเบาภาระของครูในด้านการเตรียมเนื้อหา  เพราะบางครั้งอาจให้นักเรียนศึกษาเนื้อหาจากสื่อ    ได้เอง
3.   เป็นการกระตุ้นให้ครูตื่นตัวอยู่เสมอในการเตรียมและผลิตวัสดุใหม่ๆ  เพื่อใช้เป็นสื่อการอสน ตลอดจนคิดค้นเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้น่าสนใจยิ่งขึ้น

      ศักดิ์ศรี  ปาณะกุล (2550: 6-7) กล่าวถึงคุณค่าของสื่อการเรียนรู้ต่อครู ดังนี้
1.   ช่วยสร้างบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ที่ดี  น่าสนใจ  สนุกสนาน  มีความน่าเชื่อถือจึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับครูได้เป็นอย่างดี  และนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมายของครูในที่สุด
2.   ช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการเรียนรู้  เช่น ทำให้ครูพูดน้อยลง  ถ่ายทอดเนื้อหาด้วยตนเองน้อยลง  โดยที่นักเรียนเรียนรู้ได้เองภายใต้การกำกับดูแลหรือเงื่อนไขของครู  ไม่ต้องเตรียมและสอนซ้ำซากเพราะได้เตรียมสื่อและวิธีการใช้สื่อไว้แล้วเป็นอย่างดี  จนทำให้สามารถนำไปใช้ในครั้งต่อ ๆ ไปได้ทันที
3.   ช่วยกระตุ้นให้ครูเตรียม  ผลิต  หรือพัฒนาสื่อใหม่ ๆ  รวมทั้งคิดค้นวิธีการที่น่าสนใจ
4.   ช่วยแก้ปัญหาและทดแทนสิ่งที่ครูไม่ถนัด  เช่น  พูดไม่เก่ง  จดจดข้อมูลได้ไม่มากพอ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  และการปรากฏตัวต่อหน้าคนจำนวนมาก
5.   ช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ  สำหรับการสอนที่เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย  และเป็นรายบุคคล  โดยอาศัยสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมประกอบ
6.   ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูโดยตรง  เพราะทำให้ครูผู้สอนสามารถสอนได้เร็ว  ถูกต้องแม่นยำ ใช้เวลาสั้นลง  แต่ทำให้นักเรียนเรียนได้มากขึ้น
7.   ช่วยให้ครูมีปฏิสัมพันธ์และติดตามดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล  เพราะใช้เวลาในด้านการบรรยายถ่ายทอดเนื้อหาสาระ  การเตรียมการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ น้อยลงจึงมีเวลาเพิ่มขึ้น
8.   ช่วยให้ครูสามารถวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ตรงจุดมุ่งหมายในทุกขั้นตอน
9.   ช่วยให้ครูสามารถนำประสบการณ์จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายภายนอกห้องเรียนมานำเสนอต่อนักเรียนและทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่มีความหมาย
10. ช่วยให้ครูได้รับทราบผลป้อนกลับจากนักเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาสื่อและการจัดการเรียนรู้ของตนได้ตลอดเวลา

       สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 77)  กล่าวถึง  ประโยชน์ของสื่อการสอนต่อครู  ดังนี้
1.   ช่วยให้ความสะดวกแก่ครูในการสอน การสอนเป็นไปด้วยดี
2.   ช่วยผ่อนแรงในการอธิบาย  อธิบายได้ตรงประเด็น
3.   ช่วยประหยัดเวลาในการสอน
4.   ช่วยให้ครูและนักเรียนมีความเข้าใจตรงกัน
5.   ช่วยให้ครูสังเกตปฏิกิริยานักเรียนได้
6.   ช่วยให้ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น

สื่อในยุคปัจจุบัน           

กิดานันท์  มลิทอง (2544: 2) กล่าวว่า  รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  จากการเรียนนี้จึงต้องพัฒนาในห้องเรียนไปสู่การเรียนในห้องเรียนขนาดใหญ่และการศึกษาทางไกล  ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการพัฒนาสื่อการสอนโดยการนำสื่อเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น
1.   การใช้กล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดการสอนจากครูคนเดียวไปยังนักเรียนจำนวนมากที่อยู่ในห้องเรียนต่างๆ
2.   การใช้เครื่องวิชวลไลเซอร์และเครื่องแอลซีดีถ่ายทอดเนื้อหาและภาพจากวัสดุขนาดเล็กให้ฉายขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ชมได้อย่างชัดเจนทั่วถึง
3.   การใช้เครื่องแอลซีดีถ่ายทอดข้อมูลจากคอมพิวเตอร์บนจอภาพ
4.   การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนและฝึกอบรมในรูปแบบเว็บเพื่อการศึกษา
5.   การใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในการเรียนการสอนและฝึกอบรม  รวมถึงการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก
6.   การใช้ดาวเทียมถ่ายทอดการสอนจากสถาบันการศึกษาหนึ่งไปยังสถาบันต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล
7.   การวางระบบแลน  (local  area  network)  เพื่อสร้างเครือข่ายภายในสถาบันการศึกษาในการติดต่อและใช้ทรัพยากรร่วมกัน
8.   การพัฒนาระบบเครือข่ายและซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาทางไกลในรูปแบบการสื่อสาร  2 ทางในลักษณะการประชุมทางไกล  (teleconference)

ประเภทของสื่อการสอน                 

 สื่อการสอนมีหลายประเภท  และมีการจำแนกประเภทโดยใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน  สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์  (2550: 71-72)  จำแนกประเภทของสื่อได้เป็น  6  ประเภทใหญ่ๆ  ดังนี้
           1.  สื่อสิ่งพิมพ์  มีทั้งพิมพ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองการเรียนรู้ตามหลักสูตรโดยตรง  เช่น  หนังสือเรียน  คู่มือครู  แผนการเรียนรู้  หนังสืออ้างอิง  หนังสืออ่านเพิ่มเติม  แบบฝึกกิจกรรม  ใบงาน  ใบความรู้  ฯลฯ  และสิ่งพิมพ์ทั่วไปที่สามารถนำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้  เช่น  วารสาร  นิตยสาร  จุลสาร  หนังสือพิมพ์  จดหมายข่าว  โปสเตอร์   แผ่นพับ  แผ่นภาพ  เป็นต้น
           2.  สื่อบุคคล  หมายถึง  ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสาระความรู้  แนวคิด  และวิธีปฏิบัติตนไปสู่บุคคลอื่น  นับเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญ  โดยเฉพาะในด้านการโน้มน้าวจิตใจของนักเรียน  สื่อบุคคลอาจเป็นบุคลากรที่อยู่ในสถานศึกษา  เช่น  ผู้บริหาร  ครู  บุคลากรทางการศึกษา  คนทำอาหาร  หรือตัวนักเรียนเอง  หรืออาจเป็นบุคลากรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ    
           3.  สื่อวัสดุ  เป็นสื่อที่เก็บสาระความรู้อยู่ในตัวเอง  จำแนกออกเป็น 2  ลักษณะ  คือ
                    3.1  วัสดุประเภทที่สามารถถ่ายทอดความรู้อยู่ได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย เช่น  รูปภาพ  หุ่นจำลอง  เป็นต้น
                   3.2  วัสดุประเภทที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้โดยตนเองจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นช่วย  เช่น  ฟิล์มภาพยนตร์  เทปบันทึกเสียง  ซีดีรอม  แผ่นดิสก์  เป็นต้น
          4. สื่ออุปกรณ์  หมายถึง  สิ่งที่เป็นตัวกลางหรือตัวผ่าน  ทำให้ข้อมูลหรือความรู้ที่บันทึกในวัสดุสามารถถ่ายทอดอกมาให้เห็นหรือได้ยิน  เช่น  เครื่องฉายแผ่นโปร่งใส  เครื่องฉายสไลด์  เครื่องฉายภาพยนตร์  เครื่องคอมพิวเตอร์  เครื่องบันทึกเสียง เป็นต้น
          5.  สื่อบริบท เป็นสื่อที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเรียนการสอน  ได้แก่  สภาพแวดล้อม และสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ห้องเรียน  ห้องปฏิบัติการ  แหล่งวิทยาการหรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ เช่น  ห้องสมุด  หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในรูปของสิ่งมีชีวิต  เช่น  พืชผัก  ผลไม้ สัตว์ชนิดต่างๆ หรืออยู่ในรูปของปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นรอบตัว  ตลอดจนข่าวสารด้านต่างๆ เป็นต้น
          6.  สื่อกิจกรรม  เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักเรียน  ได้แก่  การแสดงละคร  บทบาทสมมติ  การสาธิต  สถานการณ์จำลอง การจัดนิทรรศการ  การไปทัศนศึกษานอกสถานที่  การทำโครงงาน

อ้างอิง  
        
ณรงค์ กาณจนะ.2553.เทคนิคและทักษะการสอนเบื้องต้น เล่ม 1.
             พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์.

เข้าถึงได้จาก http://images.pudsa.multiply.multiplycontent.com   
              สืบค้น 28 พฤษจิกายน 2553


เทคนิคการใช้สื่อการสอน โดย comtasia






วีดิโอการสอนเทคนิคการใช้สื่อการสอน